การคำนวณค่าไฟจากบิล TOU และการเลือกขนาดโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับบ้านคุณ

Last updated: 19 ก.ย. 2567  |  1588 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การคำนวณค่าไฟจากบิล TOU และการเลือกขนาดโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับบ้านคุณ

การคำนวณค่าไฟจากบิล TOU และการเลือกขนาดโซล่าเซลล์ที่เหมาะสม

การคำนวณค่าไฟฟ้าจากบิลค่าไฟแบบ TOU

จากบทความ การคำนวณค่าไฟฟ้าจากบิลค่าไฟ ก่อนเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับบ้านคุณ และ การเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมจากบิลค่าไฟ ได้กล่าวถึงความหมายของค่าต่างๆในบิลค่าไฟในอัตราปกติไปแล้ว รวมถึงการคำนวณหาขนาดของโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมตามบิลค่าไฟ

ในบทความนี้จะเป็นส่วนของการคำนวณค่าไฟสำหรับบ้านหรือบริษัทที่มีการคิดค่าไฟแบบ TOU และการคำนวณหาขนาดที่เหมาะสมของโซล่าเซลล์ต้องดูจากค่าไหนบ้าง

 

 รูปที่ 1 – อัตราค่าไฟแบบ TOU ของผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ประเภทที่ 2.2.2

 

อัตราค่าไฟแบบ TOU (Time of Use) เป็นอัตราค่าไฟที่แปรเปลี่ยนตามช่วงเวลาการใช้งาน โดยช่วงกลางวันค่าไฟแพง กลางคืนค่าไฟถูก ซึ่งต่างจากอัตราค่าไฟแบบปกติ ที่ยิ่งใช้ไฟมาก ค่าไฟจะยิ่งแพงขึ้น

ข้อกำหนดช่วงเวลาอัตรา TOU

1.   Peak : เวลา 9.00 - 22.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ และวันพืชมงคล

2.   Off Peak : เวลา 22.00 - 9.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ และวันพืชมงคล

3.   Holiday : เวลา 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์, วันแรงงานแห่งชาติ,

วันพืชมงคลที่ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย)

จากรูปที่ 1 อัตราค่าไฟ TOU ของผู้ใช้ไฟประเภท 2.2.2 สำหรับแรงดันน้อยกว่า 22kV ในพื้นที่ PEA เป็นดังนี้

ช่วงเวลา Peak อัตราค่าไฟหน่วยละ 5.7982 บาท
ช่วงเวลา Off Peak อัตราค่าไฟหน่วยละ 2.6369 บาท
ค่าบริการต่อเดือน 33.29 บาท

จากอัตราค่าไฟ TOU ข้างต้น กลุ่มที่ได้รับประโยชน์คือ ผู้ใช้ไฟตามบ้านพักอาศัยที่มีการใช้ไฟตอนกลางวันไม่เยอะ แต่เน้นใช้ไฟตอนกลางคืน หรือผู้ที่ชาร์จไฟรถ EV ที่จากเดิมชาร์จตอนกลางวัน ให้เปลี่ยนมาชาร์จตอนกลางคืนหลัง 22.00 น. ถึง 9.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลา Off Peak ค่าไฟถูก

ผู้ใช้ไฟอีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ คือ ออฟฟิศ โรงงาน ที่มีการใช้ไฟในเวลากลางวันอย่างเดียว หรือใช้ไฟตลอดทั้งวัน

หลังจากเปลี่ยนเป็นมิเตอร์ TOU แล้วผู้ใช้ไฟกลุ่มนี้จะมีค่าไฟถูกลงได้อีก ถ้าติดตั้งโซล่าเซลล์เพิ่มเติมเพื่อจะได้ลดหน่วยไฟฟ้าช่วง On Peak ให้ลดลงมากที่สุด

โซล่าเซลล์จะจ่ายไฟได้น้อยลงมากหลังเวลา 17.00 น. ทำให้ต้องดึงไฟจากการไฟฟ้ามาจ่ายโหลดเพิ่มขึ้น ถ้าออฟฟิศหรือโรงงานของท่านสามารถควบคุมให้มีการใช้ไฟน้อย หรือไม่มีการใช้ไฟเลยในช่วงลา 17.00-22.00 น. (เป็นช่วง Peak อัตราค่าไฟแพง) จะทำให้ค่าไฟลดลงอย่างมาก



รูปที่ 2 – ตัวอย่างบิลค่าไฟของผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ประเภทที่ 2.2.2.5 อัตราค่าไฟเป็นแบบ TOU

รายละเอียดที่สำคัญของบิลค่าไฟ ตามรูปที่ 1 มีดังนี้

1)  ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า

ในการคำนวณค่าไฟนั้นก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าเราเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทใด จากรูปที่ 1 บิลค่าไฟนี้เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2.2.2 ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก และอัตราค่าไฟเป็นอัตรา TOU สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ ธุรกิจรวมกับที่อยู่อาศัย เช่น โฮมออฟฟิศ เป็นต้น

2)  รายละเอียดรายการคำนวณค่าไฟ

ในส่วนนี้ได้แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นำมาคำนวณค่าไฟ ซึ่งมีดังนี้

   2.1) ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด

ความต้องการพลังไฟฟ้า คือ ความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยในช่วงเวลาทุกๆ 15 นาที

ใน 1 ชม. มีค่ากำลังไฟฟ้าเฉลี่ยที่นำมาคำนวณทั้งหมด 4 ค่า

สำหรับอัตราค่าไฟ TOU จะนำค่ากำลังไฟฟ้าเฉลี่ยเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในช่วง On Peak ที่จะถูกนำไปคิดค่าไฟฟ้า ซึ่งช่วงเวลา On Peak อยู่ในช่วงเวลา 9.00 – 22.00 น. รวมทั้งหมด 13 ชม.

ดังนั้นจะมีค่ากำลังไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งหมด 52 ค่า ซึ่งค่าที่สูงที่สุดจาก 52 ค่านี้คือค่ากำลังไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงสุด หรือค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด ที่ถูกนำไปคำนวณหาค่าไฟ

จากรูปที่ 2

ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Peak (P) = 18.14kW
ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Off Peak (OP) = 17.59kW
ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Holiday (H) = 16.65kW

   2.2) ค่าพลังงานไฟฟ้า

ค่าพลังงานไฟฟ้า คือจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือน สำหรับอัตราค่าไฟแบบ TOU ตามตัวอย่าง จะแบ่งตามช่วงเวลา ดังนี้

ค่าพลังงานไฟฟ้าช่วง Peak (P) = 2,814 หน่วย (kWh)
ค่าพลังงานไฟฟ้าช่วง Off Peak (OP) = 1,654 หน่วย (kWh)  
ค่าพลังงานไฟฟ้าช่วง Holiday (H) = 1,637 หน่วย (kWh)  

อัตราค่าไฟช่วง Peak (P) = 5.7982 บาท/หน่วย
อัตราค่าไฟช่วง Off Peak (OP) = 2.6369 บาท/หน่วย

ดังนั้น
ค่าไฟของพลังงานไฟฟ้าช่วง Peak (P) = 2,814 x 5.7982 = 16,316.13 บาท
ค่าไฟของพลังงานไฟฟ้าช่วง Off Peak (OP) = (1,654+1,637) x 2.6369 = 8,678.04 บาท

ค่าไฟของพลังงานไฟฟ้า = 16,316.13 + 8,678.04 = 24,994.17 บาท

   2.3) ค่าบริการ

การไฟฟ้าคิดค่าบริการกับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทมีค่าบริการแตกต่างกัน จากรูปที่ 2 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 2.2.2 มีค่าบริการ 33.29 บาท

   2.4) ค่าไฟฟ้าผันแปร (FT)

ค่าไฟฟ้าผันแปร คำนวณจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้า การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

จากรูปที่ 1 อัตราค่า FT เท่ากับ 0.9119 บาท/หน่วย

ดังนั้นค่า FT รวมของตัวอย่างนี้เท่ากับ อัตราค่า FT คูณด้วยจำนวนหน่วยการใช้ไฟรวมทุกช่วงเวลา

FT = 0.9119 บาท/หน่วย x 6105 หน่วย

                                      FT = 5,567.15 บาท

   2.5) ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

คำนวณจากผลรวมของข้อ 2.2-2.4

ดังนั้น ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม = 24,994.17 + 33.29 + 5,567.15

        ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม = 30,594.61 บาท

   2.6) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)

คำนวณจาก 7% ของค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม = 0.07 x 30,594.61 = 2,141.62 บาท

   2.7) ค่าไฟฟ้ารวม เดือนปัจจุบัน

เป็นผลรวมของข้อ 2.5 และ 2.6

ดังนั้น ค่าไฟรวม เดือนปัจจุบัน = 30,594.61 + 2,141.62 = 32,736.23 บาท

3)  ประวัติการใช้ไฟฟ้า

เป็นส่วนที่บอกว่ามีการใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วยในเดือนก่อนๆ เราสามารถวางแผนและควบคุมการใช้ไฟฟ้าได้จากส่วนนี้


การคำนวณหาขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมจากบิลค่าไฟที่มีอัตราค่าไฟแบบ TOU


เนื่องจากโซล่าเซลล์สามารถผลิตไฟได้ตั้งแต่ประมาณ 6..30-18.00 น. ซึ่งช่วงเวลาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง Peak ของ TOU (9.00-22.00 น.)

ในการคำนวนหาขนาดของโซล่าเซลล์ก็จะดูจากค่าพลังงานไฟฟ้าและค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดในช่วง Peak เป็นหลัก

จากตัวอย่างในรูปที่ 2

ค่าพลังงานไฟฟ้าช่วง Peak (P) = 2,814 หน่วย (kWh)
ค่าพลังไฟฟ้าสูงสุดช่วง Peak (P) = 18.14kW

จากบิลเป็นค่าไฟของเดือน ก.ค. 2566
ค่าพลังงานไฟฟ้าช่วง Peak (P) ต่อเดือน = 2,814 หน่วย

วันที่มีช่วง Peak ไม่รวมวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (31-11 = 20 วัน)
ค่าพลังงานไฟฟ้าช่วง Peak (P) ต่อวัน = 2,814/20 = 140.7 หน่วย

เนื่องจากช่วง Peak เริ่มตั้งแต่ 9.00-22.00 น. (22-9 = 13 ชม.)
ค่ากำลังไฟฟ้าช่วง Peak (P) ต่อชั่วโมง = 140.7 kwh/13h = 10.8 kw


ดังนั้น ขนาดของโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมในการติดตั้ง คือ ระบบโซล่าเซลล์ที่มีกำลังไฟฟ้ารวม 10.8-18.14kw

อย่างไรก็ตามการคำนวณด้วยวิธีนี้เป็นการประเมินเบื้องต้น ซึ่งค่าที่ได้เป็นค่าโดยเฉลี่ย ถ้าจะให้ถูกต้องยิ่งขึ้นต้องมีการเก็บข้อมูลจากมิเตอร์ AMR และวัดกระแสไฟรวมที่ใช้งานจากหน้างานจริง โดยวัดไฟในขณะที่มีการใช้ไฟเต็มที่และต่อเนื่อง ก็จะได้ข้อมูลเพื่อหาขนาดโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมให้แม่นยำมากที่สุด

 

เช็คราคาแพ็คเกจระบบโซล่าเซลล์พร้อมติดตั้งได้ที่นี่ครับ

 

แหล่งอ้างอิงรูปภาพ

1. https://pantip.com/topic/42123433

2. https://www.mea.or.th/our-services/tariff-calculation/other/lhKD8oIlS


หมายเหตุเรื่องลิขสิทธิ์บทความ
ลิขสิทธิ์บทความโดย บริษัท ริช พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ห้ามคัดลอกบทความหรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทในการใช้เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้เท่านั้น และต้องให้เครดิตกับทางบริษัทโดยใส่ URL Link ไว้ในเว็บไซท์ของผู้เผยแพร่ด้วย ถ้าผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์ทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับท่านได้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นหรอกครับ ที่ทำได้คือเสียความรู้สึกเท่านั้น เพราะแต่ละบทความที่เขียนนั้นต้องอาศัยเวลา ความรู้ และประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้