การคำนวณค่าไฟฟ้าจากบิลค่าไฟ ก่อนเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับบ้านคุณ

Last updated: 19 ก.ย. 2567  |  9634 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายละเอียดบิลค่าไฟ MEA อัตราปกติประเภท 2.1.2

การคำนวณค่าไฟฟ้าจากบิลค่าไฟ ก่อนเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมกับบ้านคุณ


1.   การคำนวณค่าไฟฟ้าจากบิลค่าไฟ


ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างการคำนวณค่าไฟฟ้าจากบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และออฟฟิศตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านพักอาศัยตัวเอง ซึ่งเป็นรูปแบบของธุรกิจ SME ในทุกวันนี้นั่นเอง

รายละเอียดต่างๆที่แจ้งอยู่ในบิลค่าไฟ เมื่อดูให้ละเอียดแล้วมีค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว มีทั้งคำศัพท์ทางเทคนิคที่ช่างและวิศวกรไฟฟ้าเข้าใจ แล้วยังมีศัพท์ทางบัญชีที่นักบัญชีและการเงินเข้าใจ...เฮ้อ ปวดหัวดีแท้

ในการคำนวณค่าไฟจากบิลค่าไฟนั้นถ้าได้ศึกษาลงรายละเอียดลึกๆแล้ว จะมีแค่บวก ลบ คูณ หาร เท่านั้นครับ...ไม่ต้องใช้แคลคูลัสมาคำนวณ ฝากแคลคูลัสไว้กับอาจารย์สมัยเรียน ปี 1 ไม่ต้องเอากลับมาใช้นะ...ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมกดเครื่องคิดเลขกันได้เลยครับ

 อ้อ...เวลารัฐบาลประกาศขึ้นหรือลดค่าไฟต้องดูและคำนวณที่ส่วนไหน ในบทความนี้มีคำตอบให้ครับ



 รูปที่ 1 – ตัวอย่างบิลค่าไฟของผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ประเภทที่ 2.1.2 อัตราค่าไฟเป็นอัตราปกติ 

 
รายละเอียดที่สำคัญของบิลค่าไฟ ตามรูปที่ 1 มีดังนี้


   1)  ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า

   ในการคำนวณค่าไฟนั้นก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่าเราเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทใด จากรูปที่ 1 บิลค่าไฟนี้เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2.1.2 ซึ่งเป็นกิจการขนาดเล็ก และอัตราค่าไฟเป็นอัตราปกติ สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ ธุรกิจรวมกับที่อยู่อาศัย เช่น โฮมออฟฟิศ เป็นต้น

อัตราค่าไฟฟ้าของธุรกิจที่เข้าข่ายผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆทั้งหมด

ในเขตพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (MEA) สามารถตรวจสอบได้จาก

อัตราค่าไฟของการไฟฟ้านครหลวง (MEA)

และในเขตพื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สามารถตรวจสอบได้จาก

อัตราค่าไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)


   2)  จำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้า


   ก่อนอื่นขอพูดถึงหน่วยไฟฟ้ากันก่อนนะครับ

1 หน่วยไฟฟ้า คำนวณจาก การกินไฟ หรือกำลังไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ (kW) คูณด้วย ระยะเวลาการใช้งานใน 1 ชั่วโมง (hr.)

หรือพูดง่ายๆสั้นๆว่า

1 หน่วยไฟฟ้า = 1 kW x 1 hr. = 1 kWh

จากรูปที่ 1 มีการใช้ไฟในเดือนนี้ทั้งหมด 796 หน่วย

หมายความว่าในเดือนนี้มีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละอย่างซึ่งมีกำลังไฟฟ้าแตกต่างกัน ด้วยระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน รวมแล้ว 796 kWh หรือ 796 หน่วย นั่นเอง 


   3)  เลขหน่วยจากมิเตอร์ไฟฟ้า

   ค่านี้บอกถึงเลขหน่วยการใช้ไฟที่มิเตอร์ไฟหน้าบ้านอ่านได้ ในบิลค่าไฟมี 2 ค่า คือ


   เลขอ่านครั้งหลัง คือ เลขหน่วยที่มิเตอร์ไฟอ่านได้ของเดือนล่าสุด
   เลขอ่านครั้งก่อน คือ เลขหน่วยที่มิเตอร์ไฟอ่านได้ของเดือนที่แล้ว

   จากรูปบิลค่าไฟ

   เลขอ่านครั้งหลัง เท่ากับ 10119 (ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 10119 หน่วย นับตั้งแต่เริ่มใช้ไฟฟ้าวันแรก)

   เลขอ่านครั้งก่อน เท่ากับ 9323 (ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 9323 หน่วย นับตั้งแต่เริ่มใช้ไฟฟ้าวันแรก)

   ดังนั้นในเดือนล่าสุดนี้มีการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 10119-9323 = 796 หน่วย ซึ่งตรงตามที่บิลแจ้งมาครับ

   เพื่อความรอบคอบก่อนจ่ายค่าไฟให้คำนวณจุดนี้ก่อนทุกครั้ง ป้องกันกรณีการไฟฟ้าคิดหน่วยการใช้ไฟผิดนะครับ


   4)  รายละเอียดรายการคำนวณค่าไฟ

   ในส่วนนี้ได้แจกแจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นำมาคำนวณค่าไฟ ซึ่งมีดังนี้


        4.1) ค่าพลังงานไฟฟ้า

        คำนวณจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าคูณด้วยค่าไฟฟ้า (บาทต่อหน่วย) ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทจะมีอัตราค่าไฟฟ้าแตกต่างกัน ดูได้จากอัตราค่าไฟฟ้าของ MEA และ PEA ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนตัวอย่างการคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้า ให้นำจำนวนหน่วยการใช้ไฟในบิลค่าไฟตามรูปที่ 1 มาคำนวณร่วมกับอัตราค่าไฟของ MEA ตามรูปที่ 2 ดังนี้

รูปที่ 2 – อัตราค่าไฟปกติของผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ประเภทที่ 2.1.2

 

จากรูปที่ 2 เราสามารถคำนวณค่าพลังงานไฟฟ้า ตามขั้นตอนดังนี้

อัตราที่ 1 - คำนวณส่วน 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150)

150 (หน่วย) x 3.2484 (บาท/หน่วย) = 487.26 บาท

อัตราที่ 2 - คำนวณส่วน 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) :

250 (หน่วย) x 4.2218 (บาท/หน่วย) = 1055.45 บาท

อัตราที่ 3 - คำนวณส่วนที่เกินกว่า 400 หน่วย :

จากรูปบิลค่าไฟ จำนวนหน่วยรวมเท่ากับ 796 หน่วย

ดังนั้นจำนวนหน่วยที่จะเอามาคำนวณในขั้นตอนนี้เท่ากับ 796-400 = 396 หน่วย

396 (หน่วย) x 4.4217 (บาท/หน่วย) = 1,750.99 บาท

ค่าพลังงานไฟฟ้า = 487.26 + 1055.45 + 1750.99

ค่าพลังงานไฟฟ้า =   = 3,293.70 บาท

ซึ่งตรงตามที่แจ้งในบิลค่าไฟ

        4.2) ค่าบริการ

        การไฟฟ้าคิดค่าบริการกับผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทมีค่าบริการแตกต่างกัน จากรูปที่ 2 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 2.1.2 มีค่าบริการ 33.29 บาท 


        4.3) ค่าไฟฟ้าผันแปร (FT)

        ค่าไฟฟ้าผันแปร คำนวณจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้า นโยบายของรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งค่า FT นี้จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ต้องหมั่นติดตามข่าวและประกาศของการไฟฟ้าและรัฐบาลด้วยนะครับ เพราะค่า FT นี้ถ้าขึ้นไปใกล้ๆ 1 บาท/หน่วย จะน่ากลัวมาก เพราะค่าไฟรวมจะขึ้นไปอีกเยอะเลยครับ

        จากรูปที่ 1 อัตราค่า FT เท่ากับ 0.3972 บาท/หน่วย

        ดังนั้นค่า FT รวมของตัวอย่างนี้เท่ากับ อัตราค่า FT คูณด้วยจำนวนหน่วยการใช้ไฟ

        FT = 0.3972 บาท/หน่วย x 796 หน่วย

        FT = 316.17 บาท


        4.4) ส่วนลด

        บางช่วงเวลารัฐบาลอาจมีประกาศให้ส่วนลดค่าไฟ ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในตัวอย่างนี้ไม่มีส่วนลดค่าไฟแต่อย่างใด


        4.5) ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

        คำนวณจากผลรวมของข้อ 4.1-4.4

        ดังนั้น ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม = 3293.70 + 33.29 + 316.17 - 0

                  ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม = 3,643.16 บาท


        4.6) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%)

        คำนวณจาก 7% ของค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม

        ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม = 0.07 x 3,643.16 = 255.02 บาท
 

        4.7) ค่าไฟฟ้ารวม เดือนปัจจุบัน

        เป็นผลรวมของข้อ 4.5 และ 4.6

        ดังนั้น ค่าไฟรวม เดือนปัจจุบัน = 3,643.16 + 255.02 = 3,898.18 บาท

   5)  ค่าไฟรวมทั้งหมด

   ถ้าไม่มีการค้างชำระค่าไฟในเดือนก่อน ค่าไฟรวมทั้งหมดเท่ากับค่าไฟฟ้ารวมของเดือนปัจจุบัน (ข้อ 4.7)

   จากตัวอย่างนี้ไม่มีการค้างชำระค่าไฟ ดังนั้น

   ค่าไฟรวมทั้งหมดเท่ากับ 3,898.18 บาท
 

   6)  ประวัติการใช้ไฟฟ้า

   เป็นส่วนที่บอกว่ามีการใช้ไฟฟ้าไปกี่หน่วยในเดือนก่อนๆ เราสามารถวางแผนและควบคุมการใช้ไฟฟ้าได้จากส่วนนี้

2.   ถ้าค่า FT ขึ้นเยอะ เข้าใกล้ 1 บาท/หน่วย จะมีผลต่อค่าไฟโดยรวมอย่างไร

ขอยกเรื่องนี้เป็นหัวข้อใหญ่อีกเรื่องเลยนะครับ เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ส่งผลให้ประชาชนชาวไทยสะดุ้งเฮือกอย่างแรงกับค่าไฟที่แพงขึ้นมโหฬาร ซึ่งค่าไฟที่ดีดตัวสูงขึ้นนี้เป็นผลจากค่า FT ที่ปรับตัวจากค่าน้อยมากๆไปเป็น 0.9X บาท/หน่วย ผมจำตัวเลขไม่ได้นะครับ เอาเป็นว่า ถ้า FT = 0.92 บาท/หน่วย แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

จากตัวอย่างเดิม ถ้าอัตรา FT = 0.92 บาท/หน่วย

ค่า FT รวม = 0.92 บาท/หน่วย x 796 หน่วย

                     FT รวม = 732.32 บาท

ค่าไฟฟ้ารวมก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม = 3293.70 + 33.29 + 732.32 - 0

                     ค่าไฟฟ้ารวมก่อน VAT = 4,059.31 บาท

ค่าไฟฟ้าหลังจากรวม VAT = 4,059.31 + (0.07x4,059.31)

                     ค่าไฟฟ้าหลังจากรวม VAT = 4,343.46 บาท

หลังจากค่า FT ที่สูงขึ้นนี้ ค่าไฟแพงขึ้นจากเดิมกี่ %

ค่าไฟเพิ่มขึ้นจากเดิม  4,343.46 - 3,898.18 = 445.28 บาท

คิดเป็น % :  

                     (445.28/3,898.18) x 100% = 11.42%

                     ค่าไฟเพิ่มขึ้นจากเดิม  11.42%

คงจะพอเห็นฤทธิ์เดชของค่า FT ที่เพิ่มขึ้นกันหรือยังครับ ขนาดบ้านพักอาศัยและบริษัทขนาดเล็กยังมีค่าไฟที่เพิ่มขึ้นขนาดนี้ นับประสาอะไรกับบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่ที่มีหน่วยการใช้ไฟหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสนหน่วย แล้วค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนจะมากขึ้นขนาดไหนครับ

นอกจากค่า FT ที่เพิ่มขึ้นแล้ว บางครั้งอัตราค่าไฟก็เพิ่มขึ้นอีก ทำให้ค่าไฟโดยรวมยิ่งสูงขึ้นไปอีก...แต่ทุกปัญหาแก้ไขได้ครับ การติดโซล่าเซลล์ออนกริด โซล่ารูฟท็อป สามารถลดค่าไฟได้ผลดี ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 3-4 ปี เท่านั้นครับ


เช็คราคาแพ็คเกจระบบโซล่าเซลล์พร้อมติดตั้งได้ที่นี่ครับ

 

หมายเหตุเรื่องลิขสิทธิ์บทความ

ลิขสิทธิ์บทความโดย บริษัท ริช พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ห้ามคัดลอกบทความหรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทในการใช้เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้เท่านั้น และต้องให้เครดิตกับทางบริษัทโดยใส่ URL Link ไว้ในเว็บไซท์ของผู้เผยแพร่ด้วย ถ้าผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์ทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับท่านได้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นหรอกครับ ที่ทำได้คือเสียความรู้สึกเท่านั้น เพราะแต่ละบทความที่เขียนนั้นต้องอาศัยเวลา ความรู้ และประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้