ขอเวลา 5 นาที คุณจะเข้าใจและติดตั้งตัวกันไฟย้อน (Smart Power Sensor) ได้

Last updated: 4 ก.ย. 2567  |  59442 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขอเวลา 5 นาที คุณจะเข้าใจและติดตั้งตัวกันไฟย้อน (Smart Power Sensor) ได้

ตัวกันไฟย้อน (Smart Power Sensor, Smart Meter) สำคัญยังไง ทำหน้าที่อะไร

ตัวกันไฟย้อน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ตัวกันย้อน  แท้ที่จริงแล้วเจ้าตัวนี้มีขื่อทางเทคนิคว่า

Smart meter หรือ Smart Power sensor

ในการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ออนกริดเพื่อลดค่าไฟนั้น ตัวกันไฟย้อนจะใช้งานควบคู่กับหม้อแปลงกระแส (CT) โดย CT จะทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ตรวจสอบการไหลของกระแสไฟฟ้าที่เข้ามายังสายไฟเมน แล้วส่งสัญญาณไปที่ตัวกันไฟย้อน เพื่อควบคุมการจ่ายไฟของอินเวอร์เตอร์ให้สอดคล้องกับการใช้ไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน

         

ในรูปที่ 1 เป็นการต่อตัวกันไฟย้อนรุ่น 3 เฟส ยี่ห้อ Huawei ในตู้ควบคุมและป้องกันโซล่าเซลล์ การต่อตัวกันไฟย้อนในตู้ควบคุมทำให้ง่ายในการติดตั้งระบบ เดินสายไฟเลี้ยงและสายสื่อสาร RS485 สั้นลง เมื่อติดตั้งตู้ควบคุมไว้ข้างอินเวอร์เตอร์เลย สายที่ต้องเดินยาวหน่อยก็จะเหลือแต่สายของ CT เท่านั้น ซึ่งสามารถเดินสายข้ามชั้นได้

 รูปที่ 1 - ตัวกันไฟย้อนที่ต่อในตู้ควบคุมและป้องกันระบบโซล่าเซลล์

โดยปกติในระบบโซล่าเซลล์ออนกริด ถ้าเราไม่ได้ต่อตัวกันไฟย้อน ถ้าในตอนกลางวัน โซล่าเซลล์ผลิตไฟได้มากกว่าการใช้ไฟของเครื่องใช้ในบ้าน จะทำให้ไฟฟ้าจากอินเวอร์เตอร์ของโซล่าเซลล์ส่วนหนึ่งจะจ่ายไฟเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และส่วนที่เหลือก็จะจ่ายไฟออกไปยังมิเตอร์ไฟหน้าบ้านด้วย ถ้ามิเตอร์ไฟเป็นแบบจานหมุนก็จะทำให้มิเตอร์ไฟหมุนย้อนกลับ

ตัวอย่าง เช่น บ้าน A ติดโซล่าเซลล์ออนกริด 12kw โดยไม่ได้ติดตัวกันไฟย้อน ในเวลา 12.00 น. โซล่าเซลล์ผลิตไฟได้ 10kw แต่ในบ้านมีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม 8kw โซล่าเซลล์จะจ่ายไฟไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า 8kw ส่วนที่เหลือ 2kw จะจ่ายออกไปยังมิเตอร์หน้าบ้าน ทำให้มิเตอร์หมุนย้อนกลับ

เราจึงต้องต่อตัวกันไฟย้อนเพื่อไม่ให้มิเตอร์ไฟหมุนย้อนกลับเมื่อโซล่าเซลล์ผลิตไฟได้มากกว่าการใช้ไฟของเครื่องใช้ในบ้านในตอนกลางวัน จากตัวอย่างข้างต้น ถ้าบ้าน A ติดตั้งตัวกันไฟย้อนเพิ่มเข้าไป ถ้าเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม 8kw ตัว CT ที่คล้องตรงสายเมน จะอ่านค่ากระแสไฟที่ไหลผ่าน แล้วส่งสัญญาณไปที่ตัวกันไฟย้อน จากนั้นตัวกันไฟย้อนก็จะส่งสัญญาณกลับมาที่อินเวอร์เตอร์ ให้อินเวอร์เตอร์หรี่ไฟลง จากเดิมที่ผลิตได้ 10kw ให้เหลือ 8kw แล้วจ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่เปิดอยู่ กรณีนี้จะไม่มีไฟส่วนเกินจ่ายออกไปยังมิเตอร์หน้าบ้านเหมือนในกรณีที่ไม่มีตัวกันไฟย้อน

ตัวกันไฟย้อนทุกยี่ห้อมีทั้งรุ่น 1 เฟส และ 3 เฟส ในบทความนี้จะยกตัวอย่างตัวกันไฟย้อนยี่ห้อ Huawei นะครับ


 รูปที่ 2 – การต่อตัวกันไฟย้อน Huawei 1 เฟส เข้ากับไฟเลี้ยงและ CT

 
ในรูปที่ 2 เป็นการต่อตัวกันไฟย้อนรุ่น 1 เฟส เข้ากับไฟเลี้ยงและ CT โดยในกล่องของตัวกันไฟย้อนจะมีตัวกันไฟย้อนรุ่น 1 เฟส (2 Pole), CT 1 ตัว และสาย RS485 1 เส้น 

ช่องหมายเลข 3 และ 4 ต่อขนานกับสาย Line และ Neutral จากตู้ไฟเมน (MDB) ซึ่งเป็นไฟเลี้ยงตัวกันย้อน ในการต่อสายชุดนี้เป็นการต่อสายขนานกับเมนเบรกเกอร์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ลูกใดก็ได้ที่มีการ ON ตลอดเวลา
 
ช่องหมายเลข 5 และ 6 ต่อกับ CT โดยช่อง 5 ต่อกับสายสีขาวของ CT และช่อง 6 ต่อกับสายสีฟ้าของ CT
ตัว CT ให้นำไปคล้องกับสาย Line ของเมนเบรกเกอร์ฝั่งขาเข้า (ฝั่งที่ต่อกับมิเตอร์ไฟหน้าบ้าน) โดยให้หัวลูกศรของ CT ชี้ไปยังเมนเบรกเกอร์ (ชี้ไปยังโหลด)

 
เพื่อความชัดเจนให้ดูรูปที่ 3 ประกอบ จะเห็นว่าหัวลูกศรของ CT ชี้ไปยังโหลด และถูกคล้องที่สาย Line ของเมนเบรกเกอร์ฝั่งขาออกไปยังโหลด ซึ่งการคล้องที่ตำแหน่งนี้ก็สามารถทำได้ถ้าฝั่งขาออกของเมนเบรกเกอร์ใช้สายไฟเดินไปยังเซอร์กิตเบรกเกอร์ลูกย่อย แต่ถ้าขาออกใช้บัสบาร์ทองแดงแทนสายไฟ (ในตู้คอนซูเมอร์ยูนิตบางยี่ห้อใช้บัสบาร์กัน) ทำให้ไม่สามารถคล้อง CT ที่ตำแหน่งนี้ได้ เราจึงต้องคล้อง CT ที่สาย Line ฝั่งขาเข้าของเมนเบรกเกอร์แทน

ช่องหมายเลข 24 และ 25 ต่อกับสาย RS485 ไปที่ COM Port ของอินเวอร์เตอร์ โดยช่อง 24 ต่อกับ COM Port ช่อง 4 และ ช่อง 25 ต่อกับ COM Port ช่อง 3


 รูปที่ 3 – การต่อตัวกันไฟย้อน Huawei 1 เฟส เข้ากับไฟเลี้ยง, CT และอินเวอร์เตอร์

 


 รูปที่ 4 – การต่อตัวกันไฟย้อน Huawei 3 เฟส เข้ากับไฟเลี้ยงและ CT


ในรูปที่ 4 เป็นการต่อตัวกันไฟย้อนรุ่น 3 เฟส เข้ากับไฟเลี้ยงและ CT โดยในกล่องของตัวกันไฟย้อนจะมีตัวกันไฟย้อนรุ่น 3 เฟส (4 Pole), CT 3 ตัว และสาย RS485 1 เส้น

ช่องหมายเลข 3,6,9 และ 10 ต่อขนานกับสาย Line A, Line B, Line C และ Neutral จากตู้ไฟเมน (MDB) ซึ่งเป็นไฟเลี้ยงตัวกันย้อน ในการต่อสายชุดนี้เป็นการต่อสายขนานกับเมนเบรกเกอร์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ลูกใดก็ได้ที่มีการ ON ตลอดเวลา

ช่องหมายเลข 13 ต่อกับสายสีขาวของ CT A

ช่องหมายเลข 14 ต่อกับสายสีฟ้าของ CT A

ช่องหมายเลข 16 ต่อกับสายสีขาวของ CT B

ช่องหมายเลข 17 ต่อกับสายสีฟ้าของ CT B

ช่องหมายเลข 19 ต่อกับสายสีขาวของ CT C

ช่องหมายเลข 21 ต่อกับสายสีฟ้าของ CT C
 

ตัว CT ให้นำไปคล้องกับสาย Line ของเมนเบรกเกอร์ฝั่งขาเข้า (ฝั่งที่ต่อกับมิเตอร์ไฟหน้าบ้าน) โดยให้หัวลูกศรของ CT ชี้ไปยังเมนเบรกเกอร์ (ชี้ไปยังโหลด)

จากประสบการณ์การติดตั้งโซล่าเซลล์ออนกริดรุ่น 3 เฟส ในตู้โหลดเซ็นเตอร์ตามบ้านและตู้ MDB ขนาดใหญ่ในโรงงาน ส่วนขาออกของเมนเบรกเกอร์จะใช้บัสบาร์ทองแดงขนาดใหญ่ ซึ่งยากแก่การคล้อง CT ที่ตำแหน่งนี้ เราจึงคล้อง CT ที่ฝั่งขาเข้าของเมนเบรกเกอร์แทน

จากรูปที่ 5 ช่องหมายเลข 24 และ 25 ต่อกับสาย RS485 ไปที่ COM Port ของอินเวอร์เตอร์ โดยช่อง 24 ต่อกับ COM Port ช่อง 7 และ ช่อง 25 ต่อกับ COM Port ช่อง 9



 


 รูปที่ 5 – การต่อตัวกันไฟย้อน Huawei 3 เฟส เข้ากับไฟเลี้ยง, CT และอินเวอร์เตอร์


เนื่องจากตัวกันไฟย้อน 3 เฟส รุ่น DTSU666-H นั้นสามารถต่อ CT ที่มี Ratio สูงสุดเพียง 250A/50mA ถ้าหน้างานมีสายไฟเมนเส้นใหญ่ และกระแสไฟไหลผ่านเกิน 250A เราต้องใช้ตัวกันไฟย้อนรุ่น DTSU666-HW วึ่งสามารถต่อกับ CT ได้สูงสุด 1000/5A โดยศึกษาได้จากบทความ ตัวกันไฟย้อน Smart Meter 3 เฟส รุ่น DTSU666-HW จิ๋วแต่แจ๋ว

ในการติดตั้งตัวกันไฟย้อนนั้นอาจจะมีปัญหาขึ้นระหว่างที่ติดตั้ง หรือหลังจากที่ใช้งานไปสักพัก แต่ปัญหาที่ว่านี้ก็สามารถแก้ไขได้โดยศึกษาจากบทความ “ล้วง แคะ แกะ เกา ปัญหาน่าปวดหัวที่เกิดจากตัวกันไฟย้อน Huawei" ได้เลยครับ

 

Click เช็คราคาโซล่าเซลล์ออนกริดพร้อมติดตั้งและรายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ 

 

แหล่งอ้างอิงรูปภาพประกอบ

DDSU666-H Smart Power Sensor User Manual

DTSU666-H Smart Power Sensor User Manual

SUN2000-(2KTL-6KTL)-L1 User Manual

SUN2000-(3KTL-10KTL)-M1 User Manual

หมายเหตุเรื่องลิขสิทธิ์บทความ

ลิขสิทธิ์บทความโดย บริษัท ริช พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ห้ามคัดลอกบทความหรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทในการใช้เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้เท่านั้น และต้องให้เครดิตกับทางบริษัทโดยใส่ URL Link ไว้ในเว็บไซท์ของผู้เผยแพร่ด้วย ถ้าผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์ทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับท่านได้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นหรอกครับ ที่ทำได้คือเสียความรู้สึกเท่านั้น เพราะแต่ละบทความที่เขียนนั้นต้องอาศัยเวลา ความรู้ และประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้