การเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมจากบิลค่าไฟ

Last updated: 1 ก.พ. 2567  |  2873 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Solar Roof Top 01

การเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมจากบิลค่าไฟ

ที่กล่าวมาในบทความ การคำนวณค่าไฟจากบิลค่าไฟ เป็นการคำนวณค่าไฟฟ้าจากบิลค่าไฟ รวมถึงปูพื้นฐานทางเทคนิคเรื่องการคำนวณหน่วยไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า และความรู้ทางบัญชีเกี่ยวกับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในบทความนี้จะพูดถึงการเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ให้เหมาะกับค่าไฟที่ท่านจ่าย ตรงส่วนนี้สำคัญมากนะครับ เพราะถ้าเราคำนวณเป็นก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ และคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

ถ้าบริษัทของท่านจ่ายค่าไฟเฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท แต่ติดโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่เกินไป เช่น 20kW (20kW ลดค่าไฟได้เดือนละ 12,000-15,000 บาท) ก็จะทำให้ระยะเวลาคืนทุนของท่านยาวนานขึ้นไปอีก

เนื่องจากระบบโซล่าเซลล์ที่เราจะคำนวณในบทความนี้ เป็นระบบโซล่ารูฟท็อป หรือในทางเทคนิคเรียกว่า ระบบโซล่าเซลล์ออนกริด ซึ่งจ่ายไฟได้เฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น เราจึงพิจารณาการใช้ไฟของลูกค้าเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น

 จากประสบการณ์ในการเลือกขนาดของระบบโซล่าเซลล์ออนกริดให้กับลูกค้า มีอยู่ 2 วิธีการหลักๆ ที่เรานำมาใช้ คือ

1. การคำนวณจากบิลค่าไฟ

     คำนวณจากหน่วยการใช้ไฟ ซึ่งท่านลูกค้าสามารถคำนวณได้เองก่อนที่จะติดต่อมายังบริษัทผู้รับเหมาติดตั้งโซล่าเซลล์

2. วัดการใช้ไฟที่หน้างานลูกค้า

     วัดค่ากระแสไฟฟ้าด้วยแคลมป์มิเตอร์ ซึ่งต้องให้ผู้รับเหมาไปวัดที่หน้างาน โดยนำแคลมป์มิเตอร์ไปคล้องที่สายไฟเมน เพื่อวัดค่ากระแสไฟฟ้า แล้วนำมาคำนวณหาค่ากำลังไฟฟ้ารวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดใช้งาน

สำหรับบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะการคำนวณจากบิลค่าไฟอย่างเดียว ซึ่งเหมาะกับท่านที่ไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้า แต่เมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว ท่านสามารถคุยกับผู้รับเหมาในเบื้องต้นได้ครับ

เราขอยกตัวอย่างรูปบิลจากบทความเดิมมานะครับ จากรูปที่ 1 เป็นบิลค่าไฟของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีการคิดค่าไฟในอัตราปกติ ซึ่งบิลของเดือนนี้มีจำนวนหน่วยการใช้ไฟ 796 หน่วย และเปิดใช้ไฟเฉพาะช่วงกลางวัน เวลาทำงาน 8.00-17.00 น.

 
 รูปที่ 1 – บิลค่าไฟของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีค่าไฟอัตราปกติ

ก่อนจะคำนวณเลือกขนาดโซล่าเซลล์นั้น เราจะต้องทราบว่าสำหรับประเทศไทย แผงโซล่าเซลล์นั้นสามารถผลิตไฟได้สูงสุด 4-5 ชั่วโมงต่อวัน โดยช่วงสายถึงบ่ายจะมีความเข้มของแสงแดดมากที่สุด (จะไม่ระบุเวลาที่แน่นอน เพราะในแต่ละวัน ที่เวลาเดียวกัน ความเข้มของแสงแดดจะไม่เท่ากัน)

จากรูปที่ 1 เดือนนี้มีการใช้ไฟทั้งหมด 796 หน่วย

ในแต่ละวันมีการใช้ไฟโดยเฉลี่ย = 796/30 = 26.5 หน่วย

เราจะเลือกระบบโซล่าเซลล์ขนาดกี่ kW เพื่อให้จ่ายไฟได้ใกล้เคียง 26.5 หน่วย/วัน มากที่สุด

ง่ายๆเลยครับ จากข้อมูลที่ว่าแผงโซล่าเซลล์นั้นสามารถผลิตไฟได้สูงสุด 4-5 ชั่วโมงต่อวัน

ดังนั้นขนาดของระบบโซล่าเซลล์ต่ำสุดที่เหมาะสม = 26.5/5 = 5.3kW  

และขนาดของระบบโซล่าเซลล์สูงสุดสุดที่เหมาะสม = 26.5/4 = 6.63kW 

ขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสม = 5.3kW-6.63kW

เนื่องจากอินเวอร์เตอร์ที่ขายในท้องตลาดมีรุ่น 3kW 5kW แล้วข้ามไป 10kW เลย

ดังนั้นท่านสามารถเลือกระบบโซล่าเซลล์ 5kW เพื่อให้เหมาะสมกับการคำนวณข้างต้นครับ

 
ถ้าบริษัทนี้ใช้ไฟทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นสัดส่วนตอนกลางวัน 60% และตอนกลางคืน 40% เราจะคำนวณได้ดังนี้

มีการใช้ไฟทั้งหมดรวม 796 หน่วย

ใช้เฉพาะตอนกลางวัน = 0.6 x 796 = 478 หน่วย

ในแต่ละวันมีการใช้ไฟตอนกลางวันโดยเฉลี่ย = 478/30 = 15.93 หน่วย

ดังนั้นขนาดของระบบโซล่าเซลล์ต่ำสุดที่เหมาะสม = 15.93/5 = 3.18kW  

และขนาดของระบบโซล่าเซลล์สูงสุดสุดที่เหมาะสม = 15.93/4 = 3.98kW 

ขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสม = 3.18kW-3.98kW

ดังนั้นท่านสามารถเลือกระบบโซล่าเซลล์ 3kW หรือเผื่อเป็น 5kW เพื่อรองรับการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้ครับ

อย่างไรก็ตามถ้าคำนวณแล้วขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่เหมาะสมเท่ากับ 10kW หรือใหญ่กว่านั้น ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าพื้นที่หลังคาสามารถรองรับจำนวนแผงโซล่าเซลล์ได้ทั้งหมดหรือไม่

โดยส่วนใหญ่บ้านพักอาศัย หรือบริษัทขนาดเล็ก มีหลังคากระเบื้องแบบซีแพคโมเนีย ซึ่งมี 4 ด้าน แต่ละด้านมีพื้นที่ไม่มาก สามารถติดแผงโซล่าเซลล์สูงสุดได้ไม่เกิน 5kW

แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดกลางหรือใหญ่ จะมีหลังคาเมทัลชีท หรือกระเบื้องลอนคู่ ซึ่งพื้นที่หลังคากว้างพอที่จะติดแผงโซล่าเซลล์ได้มากกว่า 5kW


เช็คราคาแพ็คเกจระบบโซล่าเซลล์พร้อมติดตั้งได้ที่นี่ครับ

 

หมายเหตุเรื่องลิขสิทธิ์บทความ

ลิขสิทธิ์บทความโดย บริษัท ริช พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด ห้ามคัดลอกบทความหรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทในการใช้เพื่อเผยแพร่เป็นความรู้เท่านั้น และต้องให้เครดิตกับทางบริษัทโดยใส่ URL Link ไว้ในเว็บไซท์ของผู้เผยแพร่ด้วย ถ้าผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์ทางบริษัทสามารถดำเนินคดีกับท่านได้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นหรอกครับ ที่ทำได้คือเสียความรู้สึกเท่านั้น เพราะแต่ละบทความที่เขียนนั้นต้องอาศัยเวลา ความรู้ และประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้